โรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3
 

  • ประวัติ โรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์
  • ประวัติโรงเรียนโดยย่อ

                   โรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์  ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  10  ตุลาคม   2477   เป็นสาขาของโรงเรียนบ้านโคกยางหนองตาสี จัดตั้งโดยหลวงณรงค์  รักษาเขต   นายอำเภอนางรองสมัยนั้oได้อาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านทุ่งโพธิ์ เป็นสถานที่เล่าเรียน  ดำรงอยู่ด้วยเงินประถมศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ

                   ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ได้โอนมาอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด  จนกระทั่ง ถึงวันที่ 1  ตุลาคม  พ.ศ.  2523  ได้โอนมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการตามเดิม

                  เมื่อวันที่ 15  กันยายน  พ.ศ.  2479  ได้ยกฐานะโรงเรียนเป็นโรงเรียนอิสระ  ตั้งชื่อว่า  โรงเรียนประชาบาล ตำบลชุมแสง 4  (วัดทุ่งโพธิ์)  สถานที่เล่าเรียนใช้ที่เดิม                  

                  เมื่อ  พ.ศ.  2498  นายประทีป   แพร่งสุวรรณ ครูใหญ่ พร้อมด้วยคณะครูอันมี   นายแถม  บุญเกิด   นายสวาสดิ์  ชาดี   นายดำรง  เจริญดี   และนายบัว  จันทร์บวร   พร้อมด้วยผู้ปกครอง  นักเรียนได้ร่วมกันจัดสร้างอาคารเรียนเป็นเอกเทศชั่วคราวขึ้นในที่ดินของโรงเรียนและย้ายจาก  วัดทุ่งโพธิ์มาเล่าเรียนที่โรงเรียนชั่วคราว

                 เมื่อวันที่  1 ตุลาคม  พ.ศ. 2489  ได้เปลี่ยนแปลงชื่อโรงเรียน จากโรงเรียนวัดบ้านทุ่งโพธิ์ เป็นโรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์  ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2502  นายจุล   คงสืบชาติ  ศึกษาธิการอำเภอนางรอง  ภารโรง  ครูและผู้ปกครองนักเรียนได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนเอกเทศถาวรขึ้นตามแบบแปลนของกระทรวงศึกษาธิการ  ( ป  004 ) 

                 พ.ศ. 2522 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์  สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ ใต้ถุนสูง  3  ห้องเรียนงบประมาณ 300,000 บาท และบ้านพักครู 1 หลัง งบประมาณ 88,000  บาท

                 พ.ศ.  2524  ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเอนกประสงค์  1  หลัง  งบประมาณ  100,000   บาท  สร้างส้วม  1  หลัง 3  ที่ งบประมาณ  24,000   บาท

                 พ.ศ.  2529  ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนอาคารเรียนหลังเก่าแบบ ป.004  และได้งบประมาณสร้างอาคารแทนอาคารเก่า   แบบ ส.ป.ช.  105 / 2526 /2   ชั้น 10  ห้องเรียน งบประมาณ  1,340,000  บาท       ส้วม  2  หลังหลังละ  4  ที่  รวม  8  ที่ งบประมาณ 79,800  บาท

                การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโรงเรียนเป็นมาโดยลำดับดังนี้

              (1)  นายคง  กาญจนะ                           เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2479 ถึง พ.ศ.2484

              (2)  นายริด  จำลองกูล                          เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2484 ถึง พ.ศ. 2486

              (3)  นายไพบูลย์  เข็มทอง                    เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2486 ถึง พ.ศ. 2486

              (4)  นายเสน่ห์  ศรีณรงค์                       เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2486  ถึงพ.ศ. 2486

              (5)  นายสามารถ   สมบูรณ์                   เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2486  ถึงพ.ศ. 2489

              (6)  นายสถิตย์  โตสกุล                        เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2489 ถึง พ.ศ. 2496

              (7)  นายประทีป  แพร่งสุวรรณ               เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2496 ถึง พ.ศ.2513

              (8)  นายสามารถ  บุญเกิด                     เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2514 ถึง พ.ศ.2534

              (9)  นายเสน่ห์  ปานกลาง                      เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2534 ถึง พ.ศ.2541

              (10)  นายสามารถ  บุญเกิด                    เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ.2541 ถึง พ.ศ. 2548

              (11)  นางประเทือง  กันหาทิพย์             เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ. 25448 ถึง พ.ศ. 2551

              (12)  นายสุทธิสวัสดิ์(จรัส)   สลับศรี        เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2554

              (13)  นายสิทธิชัย  ศรีชุม                        เป็นผู้บริหารเมื่อ พ.ศ. 2554 ถึง ปัจจุบัน

     

     

    บันทึกชุมชน

    ประวัติหมู่บ้านทุ่งโพธิ์   ตำบลชุมแสง   อำเภอนางรอง   จังหวัดบุรีรัมย์

    โดย

    นายไสว   มีแก้ว

    หมู่บ้านทุ่งโพธิ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ  ปีพุทธศักราช  ๒๓๐๐  ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน  เป็นพี่น้องสองคนซึ่งเดินทางค้าขายและอพยพมาจากเมืองเขมรต่ำ หรือประเทศกัมพูชา  คนพี่ชื่อว่าหลงเดช หรือ หลวงเดช กับคนน้องชื่อว่า หลงสังข์  หรือหลวงสังข์   ซึ่งใช้เส้นทางสายน้ำลำมาศเป็นเส้นทางค้าขายติดต่อระหว่างเมืองนางรอง  เมืองพิมาย และเมืองเขมรต่ำในสมัยนั้น  เพราะต้องอาศัยน้ำท่าจากน้ำลำมาศเพื่อการพักแรมของกองเกวียน  กองช้าง กองม้า ซึ่งในสมัยโบราณด้านทิศตะวันตกของบ้านทุ่งโพธิ์ปัจจุบันเป็นเส้นทางเดินทัพจากเมืองพิมายไปเมืองเขมรต่ำเพื่อไปลงเขาที่ช่องตะโกที่บ้านหนองเสม็ดปัจจุบัน คาราวานกองเกวียนของพ่อค้าต่างๆ  และกองทัพไทยโดยเจ้าพระยามหากษัตริศึกที่ยกลงไปปราบเขมรก็ใช้เส้นทางสายน้ำลำมาศ  ด้านตะวันตกของหมู่บ้านทุ่งโพธิ์  ในอดีตเคยเป็นที่พักทัพของนักรบไทย  ไม่ว่าจะเป็นทัพช้างทัพม้าและทหารราบเพื่อหุงหาอาหารของไพร่พล และ  ตะวันตกวัดบ้านทุ่งโพธิ์ปัจจุบัน เมื่อก่อนมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่งบริเวณสะพานข้ามไปบ้านโคกมะค่า      ปัจจุบันชำรุดเสียหายหมดแล้ว   (ข้อมูลจากตาใหญ่  ทิพย์นางรอง)  หลวงเดชกับหลวงสังข์ที่เดินทางค้าขายไปมาตามเส้นทางลุ่มลำมาศคงเห็นว่าบริเวณบ้านทุ่งโพธิ์ปัจจุบันเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ดอนไม่ห่างไกลจากแหล่งน้ำจนเกินไป  จึงได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น ณ  จุดหนี้  ครั้งแรกที่ก่อตั้งหมู่บ้าน มีบ้านเรือนสามหลัง  คือบ้านของหลวงเดช  บ้านของหลวงสังข์ และบ้านของบริวารผู้ติดตาม  สาเหตุที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ณ  จุดหนี้สันนิษฐานว่า บริเวณนี้เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงในฤดูน้ำหลาก  ใกล้แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เพราะใจกลางหมู่บ้านเป็นที่ดอนสูงกว่าที่อื่นๆในบริเวณเดียวกัน ต่อมาจากชื่อหลวงเดช  เลยได้นามสกุลเป็น  แสนเดช    และจากชื่อหลวงสังข์เลยได้นามสกุลเป็นหอยสังข์ หลวงเดชมีลูกชาย ๓ คน คือ ๑.นายพูน  แสนเดช  ๒.นายหรั่ง  แสนเดช  ๓.นายมิ่ง  แสนเดช ซึ่งได้ไปมีครอบครัวที่บ้านถนนหัก  และหลวงสังข์  มีลูกชาย ๓ คน คือ ๑.นายชัง   หอยสังข์(อพยพไปตั้งครอบครัวที่จังหวัดจันทบุรี ประมาณ ๙๐ปีที่แล้วปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖)  ๒.นายชื่น  หอยสังข์   ๓.นายชุ่ม    หอยสังข์ และในกาลต่อมา คือ ครอบครัวปู่ชื่น กับ ครอบครัวปู่ชุ่ม  ปู่ชุ่ม  หอยสังข์  มีลูกชายชื่อดี  หอยสังข์  ได้แต่งงานกับ นางอัด หรือย่าอัด ย่าอัด นั้นสมัยเป็นเด็กได้เดินทางรอนแรมมากับแม่จากถิ่นอื่น และแม่ได้มานอนเสียชีวิตที่คลองกะเห็ด  ซึ่งมีผู้ไปพบเห็นเด็กหญิงอัดนอนดูดนมแม่ที่เสียชีวิตแล้ว และได้นำมาเลี้ยงจนโตเป็นสาวและได้แต่งงานกับนายดี  หรือปู่ดี  หอยสังข์  จนมีนามสกุลหอยสังข์เต็มบ้านทุ่งโพธิ์  ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักได้มีครอบครัวปู่เป๊ะ  ทิพย์นางรอง  ซึ่งย้ายครอบครัวมาจากเมืองนางรอง  มาตั้งครัวเรือนเพิ่มขึ้น    ปู่เป๊ะ   ทิพย์นางรอง   มีลูกชายชื่อนายเติบ  ทิพย์นางรอง  และเมื่อแต่งงานแล้วมีลูกชายชื่อว่า  นายใหญ่   ทิพย์นางรอง   ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าวัดบ้านทุ่งโพธิ์   วัดบ้านทุ่งโพธิ์ได้ก่อตั้งมา ๒  ครั้ง  ครั้งแรกตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านนายสี   นางจวบ  หอยสังข์  เจ้าอาวาสในสมัยนั้น  คือหลวงพ่อราด (พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๖๐)     ต่อมาวัดร้างไม่ทราบสาเหตุ เลยย้ายที่ตั้งใหม่ไปอยู่ใกล้ลำมาศประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓   จนถึงปัจจุบัน  เจ้าอาวาสองค์แรก ชื่อว่า หลวงพ่อคำ  ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๐  เจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ คือ หลวงพ่อหริ่ง  องค์ที่ ๓  คือ อาจารย์อัด ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๐  ในช่วงเวลา พ.ศ  ๒๔๗๗ ได้มีโรงเรียนตั้งขึ้นที่วัดบ้านทุ่งโพธิ์  จัดตั้งขึ้นโดยหลวงรักษาเขต  นายอำเภอนางรองในขณะนั้น ครูใหญ่คนแรก  นายคง  ทิพย์นางรอง  คนที่ ๒ นายริด  จำลองกูล  คนที่ ๓ นายไพบูลย์   เข็มทอง คนที่ ๔  นายเสน่ห์  ศรีณรงค์ คนที่ ๕  นายสถิต   โตสกุล  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๕๐๒  ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งอยู่ที่ตะวันออกวัด  ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ และได้ย้ายอีกครั้งไปตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านบุลำดวน ปัจจุบัน โดยมี   นายประทีป   แพร่งสุวรรณ          เป็นครูใหญ่ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๑๓   ปี พ.ศ.๒๕๑๓  มีนายสามารถ   บุญเกิด เป็นครูใหญ่  ถึงปี  ๒๕๓๔

                สาเหตุที่ชื่อหมู่บ้าน ว่า “บ้านทุ่งโพธิ์” สันนิษฐานว่า ด้านทิศตะวันตกของวัดบ้านทุ่งโพธิ์ปัจจุบันซึ่งอยู่ใกล้ลำมาศ มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งกลางทุ่งระหว่างวัดกับลำน้ำมาศ  เลยตั้งชื่อตามต้นโพธิ์ใหญ่ที่อยู่ในทุ่ง  ต้นโพธิ์ที่วัดปัจจุบันปลูกขึ้นมาใหม่  โดย      ปู่ตั้น      ทิพย์นางรอง  และ ตาผล   สิงห์สถิต (ตอนบวชเป็นพระ) ประมาณ  พ.ศ. 2460      

    (ข้อมูล จากนายใหญ่  ทิพย์นางรอง หรือ ตาใหญ่หน้าวัด)

                ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านทุ่งโพธิ์ทุ่งโพธิ์  ตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านมามีดังนี้

    1.      นายคง     อรัญศักดิ์

    2.      นายหรั่ง   แสนเดช (ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลชุมแสง)

    3.      นายกอง   มณีเนตร

    4.      นายลับ   หอยสังข์

    5.      นายรอด   แสนเดช

    6.      นายเก้า   ทิพย์นางรอง

    7.      นายปลาก   คนชุม (ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลชุมแสง)

    8.      นายสุทิน    คนชุม (ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลชุมแสง)

    9.      นายบุญส่ง   คนชุม  และเป็นกำนันตำบลชุมแสง (พ.ศ. 2550 – 2558)

    ต่อมาหมู่บ้านทุ่งโพธิ์มีอัตราประชากรเพิ่มขึ้น  ได้ขยายบ้านเรือนมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  การปกครองดูแลไม่ทั่วถึง  ทางราชการจึงให้แยกหมู่บ้านออกเป็นหมู่บ้านบุลำดวน หมู่ที่ 11 โดยมีนายหลาบ   อรัญศักดิ์  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก (พ.ศ. 2520 – 2526)และได้รวมบ้านหนองปรือ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านบุลำดวนด้วย ต่อมาบ้านหนองปรือได้แยกออกไปเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือหมู่ที่ 9 จนถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2   ของบ้านบุลำดวน     หลังจากแยกกับบ้านหนองปรือ คือ  นายอาน    บูลย์เดช  (พ.ศ. 2526)       และได้เปลี่ยนจากหมู่ที่ 11    เป็นหมู่ที่ 1    ส่วนนายหลาบ  อรัญศักดิ์  ก็ยังเป็นผู้ใหญ่บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 9 จนเกษียณอายุราชการ  ในปี พ.ศ. 2521 ได้แยกหมู่บ้านออกมาอีก คือ บ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 8  มี นายไผ   กล้าพยัคฆ์ (ผู้ใหญ่ดำ) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก  คนที่สอง  คือ นายสมหมาย  อันดี  คนที่สาม คือ นายวิเชียร   ปานชาติ    ต่อมาในปี  พ.ศ.  2543    ได้แยกหมู่บ้านจากหมู่บ้านบุลำดวน    เป็นหมู่บ้านดอนตาล       หมู่ที่  13     มีนายองุ่น   เงินตรากูล  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ผู้ใหญ่บ้านดอนตาล คนที่สอง    คือ  นายเสกสันต์   ทิพย์นางรอง    ปี พ.ศ. 2544  หมู่บ้านทุ่งโพธิ์ได้แยกหมู่บ้านอีก  เป็นหมู่บ้านทุ่งสันติสุข  หมู่ที่ 14 มีนายอ่าง   สนิทชัย  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก   คนที่สอง  นายลำยอง   หอยสังข์

                บ้านทุ่งโพธิ์เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรหนาแน่น ทางราชการ โดยกระทรวงสาธารณสุข  ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านทุ่งโพธิ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2521  ในเวลานั้นผู้ใหญ่บ้าน คือ นายสุทิน   คนชุม  และต่อมาได้รับเลือกตั้ง ให้เป็นกำนันตำบลชุมแสงต่อจาก นายห่าม  บูลย์เดช ซึ่งเกษียณอายุราชการ  หัวหน้าสถานีอนามัยคนแรก คือ นางสาวจารุมาศ   ดวงสูงเนิน  พ.ศ.  2521-2523 คนที่สอง  คือ นางสาวรัตนาภรณ์  ลัทธิ (หมอหนิง)  พ.ศ. 2523 – 2536  คนที่สาม  คือ  นางส่งศิริ  มณฑล  คนที่สี่  คือ นายศิวัช   นาคพงศ์ (หมอเหน่ง)

                ปีพ.ศ. 2540 ทางราชการได้ได้ยุบสภาตำบล และเปลี่ยนแปลงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง  ครั้งแรกตั้งสำนักงานอยู่ที่ศาลาอีสาณเขียว กลางหมู่บ้านบุลำดวน หมู่ที่ 1 โดยมีนางสาวฉวีวรรณ  กลิ่นสุคนธ์  เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง คนแรกของ อบต.ชุมแสง ต่อมาปี พ.ศ.2546  ได้ก่อสร้างสำนักงานองค์การบริการส่วนตำบลชุมแสงขึ้น  ที่บริเวณป่าช้าเก่าและเป็นที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีอนามัยบ้านทุ่งโพธิ์  เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยได้ย้ายสำนักงานฯออกมาจากศาลาอีสาณเขียวไปอยู่ที่สร้างใหม่จนปัจจุบัน   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง  คนแรก คือ นายอโนทัย   พุทไธสง  ซึ่งได้รับมติจากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ดำรงตำแหน่งหนึ่งวาระ  ต่อมา นายสุทิน   คนชุม ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตำบลชุมแสง  14  หมู่บ้าน ให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง ซึ่งเป็นนายก อบต. คนแรกของตำบล ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งตำบล

     

    ขอขอบคุณผู้ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ดังมีรายนามต่อไปนี้

    1.   นายใหญ่    ทิพย์นางรอง

    2.   นายชม   หอยสังข์

    3.   นายถวิล   สำรวจวงศ์

    4.   นายสมหมาย   อันดี

    5.   นายสวาท   เณรเกิด

    6.   นายคูณ  สนิทชัย

    7.   นางสังวาลย์    หอยสังข์ 

    8.   นายสุทิน   คนชุม

    9.   นายสันทัด   คนชุม 

    10.  นายเสิง  หอยสังข์

    11.  นายวิเชียร   ปานชาติ

    12.  นายอาน   บูลย์เดช

    บันทึกและปรับปรุงแก้ไขเมื่อ  กุมภาพันธ์  2557

     


    ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2023-07-07 13:21:12 น.

โรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 โทรศัพท์: 044630122 อีเมล์: tps@brm3.go.th
เว็บมาสเตอร์:: Ⓒ ระบบเว็บไซต์สถานศึกษา  WEB School CMS V.2 [ติดต่อทีมพัฒนา]