โรงเรียนบ้านชะอวด เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลท่าเสม็ด 1 (วัดท่าเสม็ด) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2465 นายอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง ปลัดกิ่งอำเภอชะอวด เป็นผู้อุปการะ และมีนายเนื่อง คาวินพฤกษ์ เป็นครูใหญ่คนแรก
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งใหม่ในที่ราชพัสดุ ใกล้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชะอวด มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ และยังคงใช้ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลท่าเสม็ดอยู่ เพราะเป็นสาขาของโรงเรียนวัดท่าเสม็ด ใช้อาคารโรงภาพยนตร์ของนายแปลก ศิริกุล อาคารสร้างด้วยไม้ เสากลม หลังคาสังกะสี พื้นดินไม่มีฝากั้น
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น“โรงเรียนประชาบาลตำบลชะอวด”ทั้งนี้เพื่อสอดคล้องกับนามตำบล
ปี พ.ศ. 2493 มีนักเรียน 253 คน ครู 5 คน นายถวิล บุญวงศ์ เป็นครูใหญ่
ปี พ.ศ. 2494 นายถวิล บุญวงศ์ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดดอนมะปราง ทางราชการได้แต่งตั้ง นายไสว ยอดศรี มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่แทน
ปี พ.ศ. 2495 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนบ้านชะอวด” (โรงเรียนประจำกิ่ง)
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอชะอวด เป็นอำเภอชะอวด
โรงเรียนบ้านชะอวด (โรงเรียนประจำกิ่ง) จึงได้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านชะอวด” จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2498 มีนักเรียน 409 คน ครู 8 คน ภารโรง 1 คน ทางราชการได้ย้าย นายไสว ยอดศรี ไปทำงานในแผนกศึกษาอำเภอ และแต่งตั้ง นายสุพจน์ เพชรขำ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านลานนา มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนปี พ.ศ. 2499 ได้รับงบประมาณจากทางราชการ สร้างอาคารเรียนแบบสามัญ 003 (ไม่เต็มรูปแบบ) คือสร้าง 5 ห้องเรียน ในวงเงิน 125,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) สร้างเสร็จและใช้เป็นที่เรียนได้ในปี พ.ศ. 2500
ในปีนี้ทางราชการได้ขยายประถม เรียกว่าโรงเรียนสามัญ สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตร 3 ปี รับนักเรียนจบชั้น ป.4 ไม่บังคับเรียน ต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา ต่อมาได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารเรียนในที่ดินซึ่งประชาชนบริจาค ตั้งอยู่ทางทิศเหนือบริเวณหน้าสถานีรถไฟชะอวด เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ย้ายไปเรียนที่สร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2501 ส่วนโรงเรียนนี้คงเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ต่อไปตามเดิม และทางราชการได้กำหนดให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างของอำเภอ
ปี พ.ศ. 2502 ทางราชการได้ย้าย นายสุพจน์ เพชรขำ ไปดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนสามัญและได้แต่งตั้ง นางสาวเสงี่ยม ไชยสงคราม มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน
ปี พ.ศ. 2508 ได้ย้ายนางสาวเสงี่ยม ไชยสงคราม ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่วัดรักขิตวัน และแต่งตั้งนายประวิทย์ ทองศรีนุ่น ครูใหญ่โรงเรียนวัดรักขิตวัน มาดำรงตำแหน่งแทน
ปี พ.ศ. 2510 ทางราชการได้แต่งตั้งสับเปลี่ยน นายประวิทย์ ทองศรีนุ่น ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดรักขิตวัน และย้าย นางสาวเสงี่ยม ไชยสงครามกลับมาดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนบ้านชะอวด อีกครั้ง
ปี พ.ศ. 2515 ทางราชการได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตร และขยายชั้นประถมตอนปลายจากชั้นประถมปีที่ 5 จนถึงประถมปีที่ 7 ในลักษณะไม่บังคับ
ปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนประสบอุทกภัยอย่างหนัก อาคารชั่วคราวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500–2503
ใช้เป็นห้องประชุมถูกน้ำพาฝาผนังไปทั้งแถบ พัสดุครุภัณฑ์สูญหายจำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2521 กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรขยายการศึกษาภาคบังคับ เป็น 6 ปี จึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6
ปี พ.ศ. 2528 ได้เปิดสอนเด็กเล็กในงบประมาณ 1 ห้องเรียน และนอกงบประมาณ 2 ห้องเรียน ปีนี้ได้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาโรงเรียนบ้านชะอวด นางสาวเสงี่ยม ไชยสงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ริเริ่มจัดหาทุนจดทะเบียนครั้งแรก 130,000 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน)
เดือนกันยายน 2529 นางสาวเสงี่ยม ไชยสงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้ง นายสวัสดิ์ ชฎาภรณ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนร่อนพิบูลย์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวดแทน
เดือนกันยายน 2531นายสวัสดิ์ ชฎาภรณ์ เกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้งนายวิจิตร ฤทธิมนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนควนดินแดง มิตรภาพที่ 173 มาดำรงตำแหน่งแทน ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2531
ปี พ.ศ. 2534ได้งบประมาณสร้างอาคารเอนกประสงค์แบบ สปช.206/26เป็นเงิน 1,640,000 บาท (หนึ่งล้านหกแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2535
เดือนกันยายน พ.ศ. 2537 นายวิจิตร ฤทธิมนตรี เกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้งนายจำนง จงบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนควนดินแดงมิตรภาพที่ 173 มาดำรงตำแหน่งแทน ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2538 ในปีนี้ ครู อาจารย์ กรรมการศึกษา ตลอดถึงผู้ปกครองนักเรียนช่วยกันบริจาคเงิน วัสดุต่าง ๆ สร้างกำแพงโรงเรียน มีความยาว 353 เมตร คิดเป็นเงิน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
เดือนกันยายน พ.ศ.2538 นายจำนง จงบุรี เกษียณอายุราชการทางราชการได้ตั้งแต่นายเขียน ชูแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไม้เสียบ มาดำรงตำแหน่งแทนตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
เดือนกันยายน พ.ศ. 2540 นายเขียน ชูแก้ว เกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้ง
นายอำนวย อนันทนุพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไม้เสียบ มาดำรงตำแหน่งแทน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ตามคำสั่ง 689/2540 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
เดือนเมษายน พ.ศ. 2542 นายอำนวย อนันทนุพงศ์ไปรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระพรหมอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหนังสือสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด นครศรีธรรมราช ที่ 210/2542 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2542 และนางสุดา จงบุรี ผู้ช่วยผู้อำนวยกาโรงเรียนบ้านชะอวด รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวด จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ทางราชการได้ย้าย นายมนตรี เศวตคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยแหยง (ราษฎร์ภูเก็ตอุทิศ) มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน
ทางโรงเรียนได้ดำเนินการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงอยู่ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินบริจาคในบางส่วน กิจการของโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ทางราชการกำหนดให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น วันที่ 16 พฤษภาคมพ.ศ. 2544 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (เตรียมกับการเป็นเครือข่ายนำร่องใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544)
เดือนกันยายน พ.ศ. 2544 นายมนตรี เศวตคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนได้เกษียณอายุราชการ นายธวัช ทองนุ่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวดได้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวด จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และในปีนี้ทางโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโรงเรียนจำนวน 3 โรงเรียน 1.โรงเรียนบ้านชะอวด 2. โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ 3.โรงเรียนวัดท่ายาง
นายสนอง นาคกราย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเงิน ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวด ต่อไป ตามคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 622/2544 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 โรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1
เดือนกันยายน พ.ศ. 2551 นายสนอง นาคกราย เกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้ง
นายปริญญา เณรานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่อนพิบูลย์ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
บ้านชะอวด ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ที่ 434/2551 ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ประชาชนให้ความเชื่อถือทั้งในเขตบริการและนอกเขตบริการ นิยมส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียนอยู่ในระดับสูง นักเรียนที่จบประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาต่อร้อยละ 100ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2554 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.2/28 ( 4 ชั้น 18 ห้องเรียน ) จึงช่วยให้โรงเรียนมีห้องเรียนเพียงพอ และยังได้พัฒนาเป็นห้องศูนย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่นห้องภาษาไทย ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องคณิตศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์จำนวน 2ห้อง ห้องสังคมศึกษา การงานอาชีพ ห้องพัฒนาผู้เรียนและห้องอาเซียนโซน รวมทั้งยังได้จัดเป็นห้องรับประทานอาหารกลางวันเพิ่มเติมให้กับนักเรียนด้วย
วันที่ 30 กันยายน 2556 นายปริญญา เณรานนท์ เกษียณอายุราชการ ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายอำพล เพ็ญตระการผู้อำนวยการโรงเรียนหัวไทร(เรือนประชาบาล) มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชะอวด ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต3 ที่ 485/2556 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 โรงเรียนได้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนบ้านชะอวดเป็นครั้งแรกและมีการกำหนดให้ปีการศึกษา 2557 เป็นปีแห่งการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านชะอวด มีการจัดตั้งกลุ่มนโยบายและแผนเพิ่มอีกภารกิจและมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโครงการพัฒนาโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชและโครงการฝึกประสบการณ์นักศึกษาฝึกสอน ในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านชะอวดได้พัฒนาระบบการศึกษาเพื่อรองรับการศึกษาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ปีการศึกษา 2558 เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของโรงเรียนบ้านชะอวดโรงเรียนบ้านชะอวด ได้เปิดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน Mini English Programs (MEP) เป็นปีแรกได้รับความสนใจจากชุมชนและผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในหลักสูตรนี้ จำนวน29 คน นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่อง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 เพื่อให้ดำเนินงานตามนโยบายการบริหารจัดการเวลาเรียน กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และได้ดำเนินการไปตามหลักการและ Roadmap ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่ม (Group Process) การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน (Project-Base Learning) เรียนรู้จากกิจกรรมการปฏิบัติจริงและจากประสบการณ์ตรง ในปีการศึกษานี้ ยังได้เสนอชื่อนักเรียนเพื่อเข้ารับรางวัลนักเรียนพระราชทาน ระดับประถมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2558 และผ่านการประเมินได้เป็นตัวแทนในระดับเขตพื้นที่ และนอกจากนั้นยังได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับทอง
ปีการศึกษา 2559 ปีแห่งการยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนบ้านชะอวดนักเรียนออกเขียนได้ ร้อยละ 100 โรงเรียนบ้านชะอวดได้เปิดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน Mini English Programs (MEP) เป็นปีที่สองได้รับความสนใจจากชุมชนและผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในหลักสูตรนี้เพิ่มมากขึ้น ในปีการศึกษานี้นักเรียนได้เป็นตัวแทนการแข่งขันทักษะระดับประเทศ 2 รายการ คือ การคัดลายมือ ภาษาไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และโครงงานคณิตศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด้วย
ปีการศึกษา 2560 เป็นปีแห่งการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านชะอวด การยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนบ้านชะอวด มีการจัดตั้งฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลสารสนเทศให้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น
โรงเรียนบ้านชะอวดได้เปิดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน Mini English Programs (MEP) เป็นปีที่สามได้รับความสนใจจากชุมชนและผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,2 และ 3 ในหลักสูตรนี้อย่างต่อเนื่อง ในปีการศึกษานี้นักเรียนได้เป็นตัวแทนการแข่งขันทักษะระดับประเทศ 4 รายการ คือ การแข่งขันสวดมนต์แปล ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน การแข่งขันGSP ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน การแข่งขันเครื่องร่อนแบบเดินตามได้รับรางวัลระดับเข้าร่วมแข่งขัน ด้วย
นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดสร้างอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนวงเงิน 1,900,000 บาท ใช้เป็นห้องเกียรติคุณและหอสมุด มีการจัดสร้างอาคารเรียน 318ล/55-ก จำนวน 18 ห้องเรียน วงเงิน 21,970,000 บาท ใช้เพื่อเป็นอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสร้างโรงฝึกงาน ด้วยงบประมาณ 1,750,000 บาท โดยการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่ไลออนส์ 310 ปี มีการปรับปรุงคูระบายน้ำและทางเข้าขอบสนามฟุตบอลและสร้างหลังคาทางเข้าด้วยเงินงบประมาณช่วยเหลืออุทกภัย เป็นเงิน 2,038,000 บาท คณะครูและบุคลากรร่วมกันสมทบทุนสร้างโรงจอดรถ วงเงิน 390,000 บาท และสโมสรโรตารี่โพธิ์เสด็จ ได้สนับสนุนโรงผลิตน้ำดื่มสะอาดแก่นักเรียน วงเงิน 240,000 บาท
โรงเรียนได้ทำการวางศิลาฤกษ์อาคารโรงอาหาร แบบ 101/27 พิเศษ 2 ชั้น วงเงิน 9,800,000 บาท เมื่อวันอังคาร ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 09.39 น.
ปีการศึกษา 2560 นับเป็นปีแห่งการพัฒนาสถานศึกษาสู่มาตรฐานสากล ทำให้โรงเรียนบ้านชะอวดมีความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้าน
ปีการศึกษา 2561 “ ปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านชะอวด” ทำให้โรงเรียนมีความพร้อมในการจัดการศึกษา ผลการสอบโอเนตประจำปีการศึกษา 2561 เพิ่มขึ้นทุกรายวิชา และสูงกว่าระดับประเทศ มีนักเรียนสอบได้คะแนนเต็มในรายวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 7 คน รายวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 1 คน
การสร้างอาคารโรงอาหาร แบบ 101/27 พิเศษ 2 อยู่ในขั้นกำลังดำเนินการและกำลังจะดำเนินการแล้วเสร็จในภาคเรียนที่ 1/2562 โรงเรียนได้ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าและติดตั้งหม้อแปลง วงเงิน 687,280 บาท สั่งจ้าง ณ วันที่ 7 กันยายน 2561-13 กุมภาพันธ์ 2562
บาท สั่งจ้าง ณ วันที่ 7 กันยายน 2561-13 กุมภาพันธ์ 2562
ปีการศึกษา 2562 ปีแห่งการยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนบ้านชะอวดโดยการบริหารของ ท่านผู้อำนวยการอำพล เพ็ญตระการ มีผลงานความสำเร็จหลายด้าน รอบด้าน โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในความสำเร็จ เช่น
- ด้านคุณภาพผู้เรียน
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้คะแนนการอ่านคิดเป็นร้อยละ 72.90 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 2.24)
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้คะแนนการสอบ NT คิดเป็นร้อยละ 58.60 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 12.90)
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนการสอบโอเนต คิดเป็นร้อยละ 40.90 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 2.91)
- ด้านคุณภาพสถานศึกษา ได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
นครศรีธรรมราช เขต 3 เป็นสถานที่แข่งขันทักษะทางวิชาการ เนื่องในงานศิลปหัตถกรรม ระดับชาติ ครั้งที่ 64 ระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาในสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เมื่อวันที่ 6-8 มกราคม 2563 และความสำเร็จสูงสุดคือการเข้ารับการประเมินรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ประจำปี 2562 และคาดว่าน่าจะได้รับการประกาศรายชื่อ ได้เป็น “โรงเรียนรางวัลพระราชทาน ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ประจำปี 2562”
- ด้านคุณภาพการบริหารจัดการ ได้รับรางวัล ได้เข้ารับการประเมินรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่IQA AWARDS และ รางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร HAPPINESSHELTH LITTERATE SCHOOL
- ด้านคุณภาพครูผู้สอน ได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข (สสส.) ครูจรรยาบรรณดีเด่น และเกียรติบัตรธรรมศึกษาระดับอุดมศึกษา (ตรี/โท/เอก)
ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านชะอวดได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 1 คน และวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 1 คน ผลการสอบ NT ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 1 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข ประจำปี 2563 และรางวัลครูจรรยาบรรณดีเด่น ประจำปี 2563 จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราชและสมาคมผู้บริหารอำเภอชะอวด
ปีการศึกษา 2563-2564 โรงเรียนบ้านชะอวดได้จัดการเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยมีการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลายในทุก ๆ ช่องทาง เช่น Google Meet, Line, YouTube, Facebook ฯลฯ มีการจัดทำใบงาน และสื่อการสอนหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับรายวิชาและนักเรียนแต่ละช่วงชั้น
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2022-08-16 12:35:04 น.